เนื้อหาข่าว

8 กุมภาพันธ์ 2565 | 484 Views

ติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565


สรุปผลการสำรวจเส้นทางและสำรวจครุภัณฑ์

ณ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

ระหว่างวันอังคารที่ 8 – วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565

หน่วยตรวจสอบภายใน ติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ รวมถึงสำรวจเส้นทางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

 ปัญหาในพื้นที่

ตามที่ผู้แทนของชุมชนบ้านห้วยน้ำขาวทำหนังสือเรื่อง ขอรับการช่วยเหลือในการเข้าร่วมโครงการหลวงต่อประธานมูลนิธิโครงการหลวง ลงวันที่ 9 มีนาคม 2554 โดยขอให้เข้าไปช่วยเหลือด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม เนื่องจากเกษตรกรมีการปลูกกะหล่ำปลีและขิงเป็นพืชหลัก มีการใช้สารเคมีส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ในช่วงแรกพื้นที่ห้วยน้ำขาวเป็นพื้นที่ T&V ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถานโดยเข้าไปให้คำปรึกษา และแนะนำเกษตรกรด้านต่างๆ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการตั้งสำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาวขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรตามองค์ความรู้ของโครงการหลวง ได้แก่ พืชผัก พืชไร่ และไม้ผลกึ่งเขตหนาว การเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาด้านสังคม ได้แก่ การรวมกลุ่ม และสนับสนุนกลุ่มให้เข้าถึงแหล่งทุนและแหล่งตลาด

ผลการติดตามการปฏิบัติงานในการเตรียมความพร้อมสำหรับการติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ

2.1 วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

          1) สำรวจแปลงเกษตรกร จำนวน 3 ราย ได้แก่

1.1) แปลงนางสาวชมพูนุช ชนะกุลภัทรสร ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ ในเนื้อที่ 3.5 งาน เดิมเกษตรกประกอบอาชีพค้าขายสตอเบอรี่ให้แก่นักท่องเที่ยว ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จึงสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ โดยเจ้าหน้าที่ สวพส. ได้เข้าไปให้ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการปลูกมะเขือเทศเชอรี่ตามมาตรฐานการปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP)

1.2) แปลงไม้ผลของนางผกามาศ ปลูกอะโวคาโด (พันธุ์แฮสส์) จำนวน 250 ต้น ในพื้นที่ 5 ไร่ เดิมก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ เกษตรกรปลูกไม้ผล ได้แก่ ส้ม และอะโวคาโด ซึ่งเกษตรกรเจอปัญหาผลผลิตเสียหายเนื่องจากโรคทางการเกษตร ประกอบกับเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการเกษตร จึงสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ สวพส. เข้าไปให้องค์ความรู้ถึงวิธีการดูแล และการใช้สารชีวภัณฑ์ในการจัดการโรคทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านออนไลน์เป็นหลัก ผ่านช่องทางเฟสบุ๊คเพจ “อะโวคาโดสวนต้นค้อ”

1.3) แปลงรวมดอย 20 ไร่ เกษตรกรรวม 5 ราย เดิมเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่กรมป่าไม้จัดสรรให้ สวพส. สำหรับทำเป็นแปลงเรียนรู้ให้แก่เเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ โดย สวพส. สนับสนุนโรงเรือน ปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ ในการปลูกผักในโรงเรือน ได้แก่ มะเขือเทศราชินี มะเขือเทศเชอรี่ มะเขือเทศโทมัส แตงกวาญี่ปุ่น ฟักทองมินิ ฟักทองญี่ปุ่น และซูกินี รวมถึงการปลูกกาแฟ และปศุสัตว์

ติดตามผลการปฏิบัติงานตามคู่มือการพัฒนาระบบตลาดและสินค้าเกษตรกรของสถาบันเกษตรกรฯ

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยน้ำขาว ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ “สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ห้วยน้ำขาว จำกัด” ประเภทสหกรณ์การเกษตร เลขทะเบียนสหกรณ์ที่ 6700000525634 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ในระยะแรกตั้งมีผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกรวม 30 คน ถือหุ้นแรกตั้งจำนวน 5,500 หุ้น เป็นเงินค่าหุ้น 55,000 บาท และได้มีการคัดเลือกคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ จำนวน 10 คน ณ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 187 ราย ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามคู่มือการพัฒนาระบบตลาดและสินค้าเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่การหาความต้องการของตลาด การวางแผนการผลิต การควบคุมการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาด รายละเอียดดังนี้

3.1 การวางแผนการตลาด มีการสำรวจความต้องการของตลาดตามแหล่งตามๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดตามข้อตกลง โดยเจ้าหน้าที่ สวพส. นำความต้องการของผู้รับซื้อ มาวิเคราะห์ศักยภาพความสามารถในการผลิตและการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ของเกษตรกรแต่ละราย นำมาวางแผนการผลิตร่วมกับเกษตรกร

3.2 การวางแผนการผลิต มีการจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรเพื่อประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ และความสามารถในการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อกระจายแผนการผลิต โดยจัดสรรปัจจัยการผลิต ให้แก่เกษตรกรตามแผนการผลิต โดยมีเจ้าหน้าที่ สวพส. ติดตามและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ในการประเมินผลผลิตเพื่อวางแผนการเก็บเกี่ยว จะมีการแจ้งประมาณผลผลิตแก่ผู้รับซื้อก่อนส่งมอบผลผลิตจริง เพื่อให้มีความแม่นยำของข้อมูลมากที่สุดก่อนส่งมอบผลผลิตให้ผู้รับซื้อ กรณีที่ปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามแผน เจ้าหน้าที่ สวพส. แจ้งข้อมูลพร้อมเจรจาต่อรองกับผู้รับซื้อ

3.3 การควบคุมผลผลิต มีการส่งเสริมการปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย (GAP)

3.4 การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรดำเนินการคัด ตัดแต่งและบรรจุผลผลิตตามความต้องการของผู้รับซื้อ และเกษตรกรขนส่งผลผลิตให้แก่ผู้รับซื้อเอง 

3.5 การจำหน่ายผลิตผลสู่ตลาด การรับซื้อและการจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรแต่ละรายทราบข้อมูลราคาซื้อขายของผลิตผล ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้รับซื้อ กรณีผลผลิตเกิน เจ้าหน้าที่ สวพส. และเกษตรกรประชุมหารือร่วมกันในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิต เช่น ตลาดท้องถิ่น ในชุมชน เป็นต้น การรับเงินค่าผลิตผล ผู้รับซื้อจะดำเนินการโอนเงินให้แก่เกษตรกรโดยตรง พร้อมข้อมูลการสูญเสียของผลผลิตที่ผู้รับซื้อแจ้งกลับมา