เนื้อหาข่าว

26 มกราคม 2567 | 198 Views

คณะกรรมการตรวจสอบเข้าพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 – 27 มกราคม 2567


????คณะกรรมการตรวจสอบเข้าพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 26 – 27 มกราคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบได้ทราบถึงบริบทพื้นที่การปฏิบัติงานจริง และสภาพแวดล้อมการทำงานในพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลพื้นฐาน ความก้าวหน้าผลของการดำเนินโครงการ ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงเพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงาน และรับทราบข้อคิดเห็นในการบริหารจัดการ ร่วมหารือปัญหาอุปสรรค แนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานและการปฏิบัติงานในพื้นที่ของโครงการ และ สวพส. ????

วันที่ 26 มกราคม 2567 หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในพื้นที่ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สนับสนุนการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 8 กลุ่ม ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เกษตรกรมีรายได้รวมทั้งหมดจำนวน 5.1 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนบ้านปางมะกล้วย โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงป่าแป๋ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับคือ รายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตประเภทการอนุรักษ์/ฟื้นฟูป่า ให้กับองค์กรหรือผู้ประกอบการสำหรับนำไปชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยดำเนินงานร่วมกับบริษัทเอกชน คณะกรรมการตรวจสอบ ขอขอบคุณสวพส. ที่ให้การสนับสนุนและการประสานงานในพื้นที่เป็นอย่างดี ขอชื่นชมในความสำเร็จที่เกิดขึ้น ผู้นำชุมชน/ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง มีการบูรณาการทุกภาคส่วนของหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลรักษาป่าชุมชน ช่วยกันรักษาพื้นที่ป่าให้เกิดความยั่งยืน โดยมีจุดแข็งในเรื่องของคนอยู่ร่วมกับป่า การส่งเสริมอาชีพให้กับผู้สูงอายุบนพื้นที่สูงเพื่อสร้างรายได้ของผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องคาร์บอนเครดิตของชุมชนและการแปลงมูลค่าต้นไม้เป็นคาร์บอนเครดิต โดยความร่วมมือกับบริษัทเอกชน ในการขับเคลื่อนโครงการการรับซื้อคาร์บอนเครดิตในพื้นที่

และในวันที่ 27 มกราคม 2567 ผู้อำนวยการอุทยานฯ และรองผู้อำนวยการอุทยานฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นแหล่งเรียนรู้ ท่องเที่ยว และบริการ ที่ยั่งยืน บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และสวนพฤกษ์ศาสตร์สากล (BGCI) เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (ภายในปี พ.ศ. 2570) คณะกรรมการตรวจสอบ ขอชื่นชมความก้าวหน้าในการดำเนินงานของอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ที่มีการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีคุณภาพและความสวยงาม  โดยเฉพาะความก้าวหน้าการดำเนินงานที่เข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ที่มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน สร้างความสวยงามที่สมดุล รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้อุทยานฯ