เนื้อหาข่าว

6 กุมภาพันธ์ 2565 | 568 Views

ติดตามการปฏิบัติงานในพื้นที่ ณ โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน และการจัดทำของชุมชนต้นแบบที่จะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ณ จังหวัด พิษณุโลก ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565


สรุปผลการติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ณ โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน จังหวัดพิษณุโลก

ระหว่างวันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ 2565

การดำเนินงานตามคู่มือ การพัฒนาระบบตลาด และสินค้าเกษตรกร

โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระของแผ่นดิน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพสถาบันเกษตรกร โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์ภายในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำ ลุ่มน้ำภาค” มีสมาชิกทั้งหมด 23 ราย ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามคู่มือการพัฒนาระบบตลาดและสินค้าเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่การหาความต้องการของตลาด การวางแผนการผลิต การควบคุมการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาด รายละเอียดดังนี้

 

1.1 การวางแผนการตลาด มีการสำรวจความต้องการของตลาดตามแหล่งตามๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดตามข้อตกลง โดยเจ้าหน้าที่ สวพส. นำความต้องการของผู้รับซื้อ มาวิเคราะห์ศักยภาพความสามารถในการผลิตและการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ของเกษตรกรแต่ละราย มาวางแผนการผลิตร่วมกับกลุ่มเกษตรกร

1.2 การวางแผนการผลิต มีการจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรเพื่อประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ และความสามารถในการผลิตของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อกระจายแผนการผลิต ส่วนการจัดสรรปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ กล้า เป็นต้น จะบริหารจัดการภายใต้กลุ่มเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่ สวพส. ติดตามและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ในการประเมินผลผลิตเพื่อวางแผนการเก็บเกี่ยว จะมีการแจ้งประมาณการเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ จนถึงก่อนส่งมอบผลผลิตจริง เพื่อให้มีความแม่นยำของข้อมูลมากที่สุดก่อนส่งมอบผลผลิตให้ผู้รับซื้อ กรณีที่ปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามแผน เจ้าหน้าที่ สวพส. แจ้งข้อมูลพร้อมเจรจาต่อรองกับผู้รับซื้อ

1.3 การควบคุมผลผลิต มีการควบคุมคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักสมุนไพร น้ำหมักขี้ปลาทู น้ำหมักหอยเชอรี่ ชีวภัณฑ์ของโครงการหลวง ฮอร์โมนไข่ เพื่อลดการเกิดโรคใบจุดตากบ และป้องกันแมลงศัตรูพืช เช่น มด, หนอน และหอยทาก เป็นต้น

1.4 การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรดำเนินการคัด ตัดแต่งและบรรจุผลผลิตตามความต้องการของผู้รับซื้อในจุดรวบรวมผลผลิตในแปลงของตนเอง และมีรถขนส่งผลผลิต (รถห้องเย็น)

1.5 การจำหน่ายผลิตผลสู่ตลาด

การรับซื้อและการจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรแต่ละรายทราบข้อมูลราคาซื้อขายของผลิตผล ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้รับซื้อโดยมีการจัดทำเอกสารประกอบการจัดส่งผลผลิตให้ผู้รับซื้อทุกครั้ง ได้แก่ ชื่อเกษตรกร ชนิดพืช ราคา วันที่จัดส่ง และปริมาณน้ำหนัก กรณีผลผลิตเกินแผนการตลาดเจ้าหน้าที่ สวพส. และกลุ่มเกษตรกรประชุมหารือร่วมกันในการจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิต เช่น ตลาดท้องถิ่น ในชุมชน เป็นต้น

การรับเงินค่าผลิตผลจากผู้ซื้อ และการคืนเงินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินค่าผลผลิตจากผู้รับซื้อผ่านบัญชีธนาคารของกลุ่มเกษตรกร “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำ ลุ่มน้ำภาค” ซึ่งการคืนเงินค่าผลผลิตให้แก่เกษตรกรแต่ละราย จะคืนเงินหลังหักค่าใช้จ่ายและชี้แจงรายละเอียดให้แก่เกษตรกรทราบ เช่น ค่าขนส่ง ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าต้นกล้า เป็นต้น พร้อมข้อมูลการสูญเลียของผลผลิตที่ผู้รับซื้อแจ้งกลับมา

2. การดำเนินงานของชุมชนต้นแบบที่จะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล(ด้านการตลาดดิจิทัล)

เดิมทีโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินและกลุ่มเกษตรกร เมื่อมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีการจดบันทึกผลการผลิต ผลการสูญเสียลงในกระดาษ และบันทึกลงในโปรแกรม Excel เพื่อจัดทำสถิติออกมา ต่อมาในภายหลัง สวพส. มีการร่วมมือระหว่างโครงการรักษ์น้ำฯ, สำนักพัฒนาและศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ, สำนักยุทธศาสตร์และแผน พัฒนาระบบการบันทึกสถิติผลผลิตของเกษตรกรบนบราวเซอร์ขึ้นมา ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึง ไม่ต้องติดตั้ง ใช้เพียงอินเตอร์เน็ต เข้าใช้ได้ทั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ เพื่อลดขั้นตอนและข้อผิดพลาดของการจัดทำสถิติ ทำให้เห็นภาพรวมได้ง่ายมากขึ้น และยังสามารถเข้าไปดูข้อมูลเป็นรายบุคคลได้ มีข้อมูลตั้งแต่ชื่อเกษตรกร รูปภาพ ผลผลิต อัตราสูญเสีย จำนวนเงินที่ได้รับ แบ่งเป็นภาพรวม รายลุ่มน้ำ รายบุคคล แยกได้เป็นโรงเรือน รายงานออกมาเป็นสถิติ ทำให้ทราบถึงผลผลิตเป็นรายปี รายเดือน รวมถึงปริมาณผลผลิตในแต่ละช่วงฤดูที่มีผลผลิตแตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยในการกำหนดราคาในแต่ละช่วงฤดู เช่น ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้ปริมาณน้อยทำให้มีราคาที่สูงกว่าช่วงฤดูหนาวซึ่งมีผลผลิตมาก เนื่องจากผลผลิตที่ได้ในแต่ละช่วงฤดูมีความแตกต่างกันเกษตรกรจะสามารถใช้ข้อมูลเพื่อเป็นการต่อรองราคาในการรับซื้อและจัดทำแผนการผลิตร่วมกับผู้รับซื้อ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มเกษตรกร สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับซื้อ สร้างความยั่งยืนให้กับข้อมูลสถิติ ป้องกันการสูญหายหรือซ้ำซ้อน ปัจจุบันลงบันทึกย้อนหลังเพื่อเก็บสถิติถึงปี พ.ศ. 2562 ในระยะแรก เจ้าหน้าที่โครงการรักษ์น้ำฯ เป็นผู้กรอกบันทึกข้อมูลลงในระบบ และเริ่มถ่ายทอดให้เกษตรกรที่มีความสามารถในพื้นที่เป็นตัวแทนของสมาชิกท่านอื่นกรอกบันทึกข้อมูลในระบบ สาเหตุเนื่องจากสมาชิกแต่ละคนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ใช้ระบบไม่เป็น สายตาไม่ดี อุปกรณ์การเข้าถึงระบบไม่เอื้ออำนวย ปัจจุบันประธานกลุ่มได้มีการฝึกสอนและถ่ายทอดวิธีการลงข้อมูลในระบบให้แก่สมาชิกที่สามารถพอจะทำได้ เพื่อเป็นการกระจายภาระงาน